หัวข้อ: น้องปอม ตกจากที่สูง เริ่มหัวข้อโดย: พี่อ๋อยปอม ที่ พฤศจิกายน 02, 2017, 12:40:16 PM คำถามของน้อง Teeny
วันนี้หลังจากกลับจากทำงาน ก็ให้อาหารน้องเขา และก็พาไปขับถ่ายตามปกติ แต่หลังจากพาไปเดินกลับมาแล้ว เขาได้ยินแฟนผมกำลังทำอาหาร วิ่งไปกระโดดชนกับตู้และร้อง เพราะขาเจ็บ ตอนนี้เดินยกขา ผมก็ไม่สบายใจ เพราะเขาเพิ่งได้ 2 เดือน จึงพาไปพบสัตว์แพทย์เร่งด่วน กลัวขาจะมีปัญหา ทางสัตว์แพทย์ก็จับขาพับและก็ คลำดูว่า ผิดปกติอะไรหรือไม่ สัตว์แพทย์ก็บอกว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 2 - 3 วันนี้ ให้ใช้น้ำแข็งประคบวันละ 10 นาที หากยังไม่หาย ค่อยมา x-ray หรือกินยาต่อไป ผมอยากสอบถามว่า ถ้าหากอาการขาหัก ลูกสะบ้าเคลื่อน ที่เกิดอาการกับน้องหมา เราจะสามารถสังเกตอาการ อย่างไรบ้าง รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ไม่รู้จะช่วยน้องหมาอย่างไรได้บ้างครับ ในการตกจากที่สูงเช่น ตกจากโต๊ะหรือ ตกลงมาจากบันไดของสุนัขพันธุ์ปอมฯ ถ้าหากเลือกได้พี่อ๋อยขอเลือกตกจาก ที่สูงลงมาแล้ว “ขาหัก” ดีกว่า เพราะการตกจากที่สูงของสุนัข จะมีจังหวะและลีลาแตกต่างกันคือ - การตกจากที่สูง โดยเอาศีรษะลง ศีรษะจะน็อคพื้น สุนัขจะร้อง “แอ๊ค” คำเดียว แล้วเสียชีวิตทันทีเนื่องจาก ศีรษะไปกระแทกกับพื้นที่มีความแข็ง - การตกจากที่สูง โดยเอาหน้าหรือเอาปากลง จะทำให้กรามหัก การผ่าตัดกรามเป็นเรื่องที่ยุ่งยากต้องใส่ เหล็กเส้นๆ เล็ก ดามไว้ที่ปากจะทำให้สุนัขกินอาหารลำบาก และสุนัขจะต้องใส่คลอร่าตลอดเวลา เพื่อป้องกันมิให้ สุนัขเอาวัสดุที่ดามไว้ออกจากปาก เจ้าของจะต้องดูแลสุนัขเป็นอย่างมาก เพราะสุนัขไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย นอกจากนี้ยังต้องฉีดน้ำเกลือเข้าปาก เพื่อล้างทำความสะอาดรอบๆ คอฟัน และภายในบริเวณช่องปาก เพื่อป้องกัน ไม่ให้เศษอาหารไปติดตามวัสดุที่ดามไว้ ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่า (ประมาณ 3 เดือน) จึงจะกลับคืนสู่ปกติดังเดิม นอกจากนี้ เจ้าของยังจะต้องฝึกการป้อนอาหาร ป้อนน้ำ ป้อนยาเข้าปากสุนัข ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องดูแลอย่างดี สร้างความ ยุ่งยากแก่เจ้าของและสุนัขเป็นอย่างมาก เพื่อต้องการให้สุนัขหายป่วยเร็ว ๆ มีอาการที่เป็นปกติในเร็ววัน ถ้าหากไม่ ดูแล เอาใจใส่เช่นนี้ ก็อาจจะมีเหตุที่ทำให้มีการเจ็บป่วย พลาดพลั้ง หรือมีเรื่องอื่น ๆ เข้ามาแทรก ทำให้ต้องเพิ่มการ รักษาดูแลมากขึ้นไปจากเดิมอีก - การตกจากที่สูงโดยเอาขาลง จะทำให้สุนัขขาหัก ถ้าสุนัขขาใหญ่มากๆ ก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไร ขณะที่ ตกลงไปใกล้สู่พื้นดิน สุนัขมีลีลาที่จะเอาขาทั้ง 4 ลงมาตั้งตรงพอดี จึงไม่เกิดปัญหา ถ้าหากสุนัขขาเล็กๆ กระดูกบาง กระดูกเล็ก การลงของขาผิดจังหวะ ก็ทำให้ขาหักได้ง่าย เมื่อได้รับอุบัติเหตุตกจากที่สูงทำให้กระดูกหัก ซึ่งสุนัข อาจจะแสดงอาการเจ็บปวดหรือไม่แสดงอาการเจ็บปวด ให้เจ้าของได้รับรู้ก็ได้ แต่เจ้าของอาจจะสังเกตได้จากการที่ สุนัขเดินผิดปกติ หรือยกขาที่เจ็บไว้ข้างใดข้างหนึ่ง สุนัขของ "น้อง Teeny" จึงจัดเป็นประเภทตกจากที่สูง คือกระโดดตัวลอย แล้วตกลงมากระแทกกับตู้ ทำให้เกิดเหตุ ใน 2 กรณี คือ โครงสร้างของลำตัวไปชนกับตู้ ที่มีลักษณะเป็นของแข็ง แล้วมาตกกระทบกับพื้นอีก ซึ่งสุนัขพันธุ์ปอมฯ จะเป็นสุนัขเล็ก ลำตัวเล็ก และขาเล็ก จึงทำให้สุนัขเกิดอาการเจ็บขา และอักเสบ หรืออาจจะขาหักก็ได้ การปฐมพยาบาลก่อนนำส่งสัตวแพทย์ ควรจะเข้าเฝือกด้วยวิธีง่ายๆ ก่อน คือ นำกระดาษหนังสือพิมพ์มาม้วนเป็น ท่อนจนแข็ง แล้วนำมาดามกับขาส่วนที่หัก แล้วใช้ผ้าเทปที่เป็นกาวพันรัดเอาไว้ไม่ให้หลุด หรือเพื่อไม่ให้เกิดการ ขยับเขยื้อนของกระดูกในส่วนที่หัก หรืออาจจะใช้ท่อพลาสติกก็ได้ ท่อนไม้ กิ่งไม้ก็ได้ ถ้ารู้ว่า ขาหัก ควรเคลื่อนย้าย ด้วยความระมัดระวัง อย่าเคลื่อนย้ายอย่างรุนแรง การทำเช่นนี้เป็นการเข้าเฝือกชั่วคราวก่อนที่จะนำส่งสัตว์แพทย์ ซึ่งสัตว์แพทย์ก็จะทำการเอ็กซเรย์เพื่อยืนยันว่า ขาหักจริง หักอย่างไร อยู่ตรงส่วนไหน เป็นรอยร้าว หรือหัก หรือ ต้องเข้าเฝือกอ่อน หรือต้องผ่าตัด ถ้าร้าวหรือหักไม่มากก็ต้องเข้าเฝือก สุนัขจะปวดขามาก ถึงกับร้องครวญคราง ถ้าเจ้าของไม่นำสุนัขไปพบสัตว์แพทย์ ไม่ได้ทำการรักษาอย่างรวดเร็ว จะทำให้รูปทรงของขา อาจจะผิดรูป ใช้งานได้ ไม่เหมือนเดิม แต่ถ้ากระดูกหักแตกชนิดละเอียดจนต่อไม่ได้ จะต้องตัดขาทิ้งอย่างเดียว แล้วใส่ขาเทียม เพื่อช่วย ในการเดิน หรือสุนัขต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต การดามขา มีการใส่เฝือก การใส่เหล็ก ขึ้นอยู่กับรูปแบบการหักของขา ถ้าหากต้องใส่เหล็ก จะต้องมีการผ่าตัดใส่เหล็ก ดามยึดไว้ตลอดชีวิตของสุนัข หลังจากขาของสุนัขได้รับการใส่เฝือกแล้ว สุนัขก็จะสามารถใช้ขาที่หักและใส่เฝือกเดิน สี่ขาได้ แต่การวางขาของขาที่หักนั้น อาจจะวางขาโดยลงน้ำหนักของขาได้ไม่เต็มที่นัก สุนัขจะรู้สึกขลาดกลัวไปเอง ประมาณ 2-3 วัน สุนัขก็จะสามารถปรับตัวและรับรู้กับการใส่เฝือก ซึ่งถือว่า เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเค้าไปแล้ว สัตว์แพทย์จะให้ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวดรวมทั้งแคลเซียมให้สุนัขกิน ประมาณ 5 - 7 วัน สุนัขก็จะเริ่มสบายดี และจะ ทำให้การเชื่อมต่อของกระดูกติดได้เร็ว (http://image.free.in.th/z/iu/skmbt_c36012040518471.jpg) (http://"http://pic.free.in.th/id/b0c928192f0d6d44f62a96ff68cceeb9") สุนัขชื่อ "หอมหัวใหญ่" ขาหัก (นับจากด้านขวา ตัวที่ 2) หลังจากเข้าเฝือกใหม่ๆ ผ่านไป 1 สัปดาห์ ถ้าหากมีสิ่งผิดปกติ เช่น การเดิน การยืน หรือการวางขาไม่สามารถรับ น้ำหนักได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของสุนัข ที่ไม่ถูกต้อง ควรนำสุนัขไปพบสัตว์แพทย์เพื่อเอ็กซเรย์ดู บางครั้งอาจจะมีการเคลื่อนของกระดูก ซึ่งสัตว์แพทย์ก็จะต้องผ่าเฝือกออก แล้วดามเฝือกแข็งให้ใหม่อีกครั้ง หรือเฝือก ถูกสุนัขกัดแทะ หรือเฝือกเปียกน้ำ ถ้าหากสุนัขกัดเฝือกด้วยความซุกชน จึงควรใส่คลอร่าให้แก่สุนัขเพื่อป้องกันการกัด แทะเฝือก การที่สุนัขจะเดินได้ดีหรือไม่ได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับการเชื่อมต่อของกระดูก ถ้าสุนัขซนมากๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลา เกือบ 2 เดือนจึงจะสบายดี ถ้าหากสุนัขรู้จักวิธีใช้ชีวิตในการดูแลตัวเอง ก็จะทำให้สามารถถอดเฝือกได้เร็วขึ้น การใส่เฝือกเพื่อดามขาที่หักอยู่นี้อย่างเร็วประมาณ 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง กระดูกจึงจะเชื่อมติดกันก่อนที่จะผ่าเฝือกออก สัตว์แพทย์ต้องเอ็กซเรย์ดูอีกครั้งหนึ่งว่า กระดูกขาส่วนที่หักนั้น เชื่อมติดกันได้ดีหรือไม่ หรือยังมีรอยร้าวเป็นเส้นอยู่ จึงจะ สามารถเอาเฝือกออกได้ พี่อ๋อยเข้าใจและเห็นใจในความทุกข์ของ "น้อง Teeny" นะคะ ที่รู้สึกกังวลกับสุนัขที่เคยเห็นเขามีสภาพร่างกายที่ปกติ มีความสุขดี แต่พอได้รับอุบัติเหตุ ทำให้พฤติกรรมและการปฏิบัติตัวของทั้งเจ้าของและสุนัขต้องเปลี่ยนแปลงไป ขอให้ "น้อง Teeny" สบายใจได้นะคะว่า การที่สุนัขได้รับอุบัติเหตุทำให้ขาอักเสบ หรือขาหักนั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่ สามารถรักษา ให้หายดังเดิมได้ ตกจากที่สูงของสุนัขนับว่า ดีกว่าเหตุอื่นๆ แล้วค่ะ ถือว่าเป็นเหตุที่เบาที่สุด ในการได้รับอุบัติเหตุนะคะ ขาหักดีกว่า ตาย หรือกรามหัก จะทำให้เจ้าของลำบากกว่านี้นะคะ น้องที่เลี้ยงสุนัขพันธุ์ปอมฯ ที่ประสบปัญหาของสุนัขขาหัก เมื่อได้อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ คงจะสบายใจขึ้นนะคะว่า ปัญหา ของน้องคือ เรื่องเล็กๆ จะย้อนอดีตให้กลับคืนมาไม่ได้ ไม่มีใครต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้หรอกนะคะ ดังนั้น ปัญหา และอุปสรรคของผู้อื่นมีมากกว่าของน้องมากมายนักค่ะ สุนัขบางตัวเมื่อขาหักจะทำให้สุนัขไม่อยากกินอาหาร ไม่อยากเล่นกับเจ้าของ เนื่องจากสุนัขมีความเจ็บปวดที่ขา และ มีความรู้สึกไม่สบายตัวที่ต้องใส่เฝือก การเดิน การวิ่ง ก็รู้สึกว่า หนักขา มีสิ่งแปลกปลอมคือ เฝือกเข้ามาอยู่ในชีวิต ประจำวัน ทำให้เกิดความไม่คล่องตัว ซึ่งสุนัขก็วิตกกังวลเหมือนกัน จึงทำให้ไม่อยากกินอาหาร ควรให้อาหารสำหรับ สุนัขป่วย ซึ่งบรรจุกระป๋อง มีขายตามโรงพยาบาลสัตว์ แล้วน้ำมาอุ่นกับไมโครเวฟ ในอาหารนี้จะมีโปรตีนสูงจะช่วย สร้างพลังงานให้แก่สุนัข จะทำให้สุนัขฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ให้กินเพียงไม่กี่วัน สุนัขก็จะแข็งแรงขึ้น และสามารถกินอาหาร สำเร็จรูปตามปกติได้ค่ะ เจ้าของสุนัขบางคนเคยมีคำถามกับพี่อ๋อยว่า ประมาณ 3 สัปดาห์หรือมากกว่านี้ เมื่อสุนัขถอดเฝือกแล้ว จะเดินได้ ตามปกติไหม พี่อ๋อยขอกล่าวอ้างถึง สุนัขของพี่อ๋อยที่กำลังประกวดตัวหนึ่ง ซึ่งยังไม่ได้รับตำแหน่งเป็นแชมเปี้ยน ได้เกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในหลุมถ่ายน้ำมันเครื่อง ผลการเอ็กซเรย์ปรากฏว่า “ขาหัก” ต้องเข้าเฝือกแข็งไว้ ประมาณเกือบ 1 เดือน จึงสามารถใช้ขาได้ตามปกติและสวยงามดังเดิม สัตว์แพทย์ก็ยังหวั่นใจว่า สุนัขของพี่อ๋อย ขาหัก จะสามารถประกวดได้หรือไม่ และหลังจากนั้น เมื่อผ่าเฝือกออกแล้ว สุนัขตัวนี้ก็สามารถเดินได้อย่างสวยงาม ด้วยโครงสร้างที่งดงามเหมือนเดิม และประกวดต่อไปจนประสบความสำเร็จ ได้เป็นแชมเปี้ยนในที่สุดค่ะ เมื่อสุนัขมีปัญหาในเรื่องของขาหัก ซึ่งเจ้าของจะเห็นถึงการใช้เท้าทั้ง 4 เท้าของสุนัข ที่มีความผิดปกติไปจากเดิม วิธีที่จะตรวจสอบให้แน่ชัดว่า สุนัขขาหักหรือไม่ คือ การ X-RAY จะทำให้ทราบถึงตำแหน่งของขาที่หักหรือ ขาที่มีปัญหาของการเดินที่พลิก หรือกระดูกร้าว หรือแตก เมื่อน้องได้นำสุนัขไปพบสัตว์แพทย์ ได้ทำการ X-RAY ดูหรือไม่คะ ทำไมน้องจึงคิดว่า สุนัขขาหักล่ะคะ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่สุนัขขาไม่หัก แต่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ ซึ่งหลังจากที่สัตว์แพทย์ได้ฉีดยาแก้อักเสบและยากระตุ้นกล้ามเนื้อให้แล้ว มิใช่พาไปพบสัตว์แพทย์เพื่อฉีดยาเพียง เข็มเดียว แล้วก็จบเรื่อง จะต้องฉีดยาหรือกินยาอย่างน้อยประมาณ 7 วัน ถ้าหากสุนัขยังไม่เป็นปกติดี จะต้องนำสุนัข กลับไป X-RAY อีกครั้ง หรือจะต้องใช้ยานวดคลายความปวดของกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง ถ้าหากสุนัขขาไม่หัก ระยะ เวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ สุนัขต้องมีอาการดีขึ้นแล้วนะคะ แต่ถ้าหากสุนัขยังเดินกะเผลก หรือเดิน 3 ขาอยู่ แสดงว่า สุนัขจะต้องได้รับการรักษาต่อไปค่ะ การที่สุนัขยังเดินกะเผลก หรือเดิน 3 ขาอยู่นั้น เกิดจากหลายสาเหตุ - มีปัญหาในเรื่องโครงสร้างของกล้ามเนื้อขา ที่ผิดรูปร่าง - ขาหักและไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรก จึงทำให้สุนัขเดินกะเผลก หรือเดินยกขาข้างที่หัก หรือข้างที่เจ็บ - จากการที่ขาข้างนั้น ที่เดินกะเผลกอยู่ เคยเดินเช่นนี้ตั้งแต่วันแรกที่มีอาการ สุนัขจึงเกิดความเคยชินในการเดินเช่นนี้ เพราะถ้าหากวางขาลงเดินตามปกติทั้ง 4 ขา จะมีอาการเจ็บ และเสียวบริเวณกล้ามเนื้อขา จึงทำให้สุนัขเกิดความรู้สึกว่า การเดินยกขา จะสามารถเดินได้ดีกว่า - ถ้าหากขาแพลง กินยา และนวดยาคลายกล้ามเนื้อก็จะทำให้สุนัขดีขึ้น แต่ถ้าหากเจ้าของสุนัขไม่ได้ปฏิบัติต่อเนื่อง หรือดูแลสุนัขในการกินยา หรือทายา จะทำให้สุนัขหายช้า - สุนัขที่มีปัญหาในเรื่องของ “ลูกสะบ้าเคลื่อน” เกิดจาก - สิ่งแวดล้อม เช่น - การเลี้ยงดูของเจ้าของที่ให้สุนัขกินอาหารจนอ้วนมาก ทำให้มีน้ำหนักเกินมาตรฐานที่กำหนด เมื่อน้ำหนักตัวมาก จึงทำให้สุนัขต้องใช้ขาหลังมาก และเกิดการเสื่อม ทำให้เอ็นยึดหลุดได้ง่าย สุนัขก็จะมีอาการเจ็บ - ที่อยู่อาศัยของบ้านเป็นพื้นลื่น เช่น พื้นเป็นจำพวกหินขัด ปูกระเบื้องขัดเงา หรือปูปาเก้ สุนัขชอบวิ่งเร็วทำให้ลื่นล้ม หรือสไลด์ตัวแบบสะบัดขาบ่อยๆ จะทำให้เกิดการเสียดสี เอ็นของข้อเข่าก็จะยืด - แม่สุนัขที่ท้องปล่อยให้วิ่งเล่นมากๆ ขาหลังซึ่งมีเอ็นยึดก็อาจปลิ้นไปปลิ้นมา เหมือนตกร่อง จะทำให้สุนัขเจ็บขา ยกขาวิ่ง หรือเขย่งขา - สุนัขพันธุ์ปอมฯ จะเป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่มีกระดูกเล็กและบาง ส่วนใหญ่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้น จึงไม่ควรนำสุนัขที่มีปัญหาของลูกสะบ้าเคลื่อนมาเป็นพ่อพันธุ์ หรือแม่พันธุ์ เพราะจะทำให้รุ่นลูก รุ่นหลาน ได้รับการ ถ่ายทอดยีนเหล่านี้ไปเรื่อยๆ สุนัขบางพันธุ์จะต้องเอ็กซเรย์ก่อนที่จะทำพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพื่อดูว่า สุนัขตัวนี้มีปัญหาเรื่อง ลูกสะบ้าเคลื่อนหรือไม่ ถ้าผลของการเอ็กซเรย์ออกมาว่า มีปัญหาในเรื่องลูกสะบ้าเคลื่อน ก็จะไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้ไม่สามารถใช้ในการทำพันธุ์ต่อไปได้ อาการเริ่มแรก สุนัขบางตัวจะมีอาการเจ็บที่ขาข้างเดียวก่อน ถ้าหากเจ้าของไม่ทำการรักษา จะทำให้ขาอีกข้างไปแย่งกันรับน้ำหนัก สุนัขบางตัวที่มีอาการมากๆ จะเดินลากขาเหมือนเป็ด แต่ถ้าหากมีอาการน้อยคือ เป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่ง สามารถ กินยาควบคุม และจำกัดบริเวณ ก็จะทำให้สามารถมีสภาพกลับคืนสู่ปกติได้ สุนัขจะมีอาการที่ขาหลัง จะเดินขาเป๋ หรือเดินด้วยท่าทางแปลกๆ หรือเมื่อสุนัขวิ่ง จะไม่ยอมลงน้ำหนัก สุนัขจะเจ็บขา จึงทำให้ไม่สามารถใช้ขารับ น้ำหนักในการเดินได้ สุนัขจะต้องรับน้ำหนักของข้อเข่า ถ้าหากไม่รักษา จะทำให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น พี่อ๋อยขอใช้คำจำกัดความอย่างสั้นๆ ของ”ลูกสะบ้าเคลื่อน” ว่าเป็นอย่างไรนะคะ ลูกสะบ้า จะอยู่ตรงหัวเข่าของสุนัข สุนัขบางตัวเบ้าสะบ้าจะตื้นเกินไป ทำให้เอ็นที่ยึดติดกับเข่าเคลื่อนที่และหลุด หรือ หมายถึง ไม่อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะอยู่ หรือไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ซึ่งระดับของการเคลื่อนของลูกสะบ้าจะมีหลาย ระดับ จึงอยู่ที่การวินิจฉัยของสัตว์แพทย์ว่า มีอาการรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ควรจะรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ ถ้าเป็นน้อย สัตว์แพทย์ก็จะให้กินยาเพื่อลดอาการเจ็บก่อนการผ่าตัด จะต้องตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด เอ็กซเรย์ดูว่า การที่ลูกสะบ้าเคลื่อนนั้น อยู่ในตำแหน่งไหนและมีระดับอาการอยู่ในระดับใด ซึ่งการรักษาของสัตว์แพทย์จะรักษาที่ ระดับอาการของสุนัข การรักษา - การกินยา และการทำกายภาพบำบัด - การผ่าตัดเซาะร่อง วิธีการดูแลหลังผ่าตัดลูกสะบ้าเคลื่อน - ให้สุนัขทำกายภาพบำบัด โดยวิธีให้ลอยตัวในน้ำ ใช้ขาหลังถีบน้ำ - ให้สุนัขนอนตะแคง เจ้าของใช้มือจับตรงหัวข้อเข้า แล้วดึงเข้าดึงออก จนกว่าเอ็นจะคลายตัว ถ้าผ่าตัดทั้งสองข้าง ก็ทำเช่นเดียวกันทั้งสองข้าง - ทำกายภาพโดย เดินเหยาะ ๆ ในน้ำ ประมาณ 10-20 นาที แล้วเปลี่ยนเป็นให้สุนัขตะกุยน้ำด้วยขาหลัง สำหรับการทำกายภาพบำบัด โดยการใช้น้ำในการรักษานั้น จะให้สุนัขอยู่ในสระว่ายน้ำ ซึ่งจะมีสระว่ายน้ำบริการ ให้แก่สุนัขที่มีปัญหาในเรื่องข้อเข่า เช่น โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ กรุงเทพฯ การทำกายภาพบำบัด ถ้าหากสุนัขที่มีอาการลูกสะบ้าเคลื่อนเพียงเล็กน้อย การทำกายภาพบำบัดก็จะทำให้สามารถหายได้ ถ้าเจ้าของสามารถจับลูกสะบ้าให้เข้าได้เองก็จะเป็นการดี เหมือนกับคนที่หัวไหล่หลุด ซึ่งน้องสาวของพี่อ๋อยเคยเอื้อมมือ ขึ้นไปเหนี่ยวลูกมะละกอที่อยู่บนต้นสูงๆ ทำให้หัวไหล่ห้อยร่องแร่ง จนเห็นได้ชัดเจน พี่อ๋อยจึงจับแขนกับหัวไหล่ให้มา พบกัน และดึงเข้าร่องให้มีเสียงดังกึ๊ป หัวไหล่ก็จะเข้าที่ได้ง่าย หลังจากนั้น น้องสาวของพี่อ๋อยก็ไม่เคยมีอาการหัวไหล่หลุด อีกเลยค่ะ แต่ในกรณีของสุนัข หากสะบ้าหลุดเข้า หลุดออก นานไปก็จะเกิดการเสื่อม มีการเสียดสีซึ่งกันและกัน ก็จะ ทำให้เกิดอาการเจ็บ และการใช้ขาที่ผิดปกติไปจากเดิม - พื้นบ้านต้องเป็นพื้นที่ไม่ลื่น ควรให้สุนัขอยู่ในพรม หรือวางวัสดุที่ไม่ลื่นให้สุนัขเดิน - ต้องจำกัดบริเวณ อย่าให้สุนัขวิ่งเล่นอย่างอิสระ - ไม่ควรให้สุนัขกระโดดโลดเต้น เช่น เมื่อรู้ว่า เจ้าของกลับมาถึงบ้านแล้ว สุนัขจะเกิดความดีใจเป็นอย่างมาก ก็จะกระโดด เพื่อเข้าไปหาเจ้าของ ดังนั้น เจ้าของจึงต้องรีบอุ้ม หรือกอดกันจนกว่าอาการดีใจเช่นนี้จะค่อยๆ ลดลง - ต้องระวังอย่าให้ตกจากที่สูง - ควรให้สุนัขออกกำลังกายด้วยการเดินเบา ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น - ให้สุนัขกินวิตามินบำรุงร่างกายเวลาเช้า ตามสูตรของพี่อ๋อย เพื่อช่วยบำรุง และซ่อมแซมในส่วนที่สึกหรอ คือ กระดูก ของข้อต่อต่างๆ - ควรดูแลเรื่องอาหารของสุนัข ให้กินอาหารเม็ด และไม่ควรให้สุนัขมีน้ำหนักตัวมากเกินไป เพราะจะทำให้สุนัขต้องรับ น้ำหนักตัวที่มากขึ้นอีกด้วย - เมื่อถึงเวลาที่สัตวแพทย์นัดหมาย เพื่อเอ็กซเรย์ ควรไปตามนัดของสัตวแพทย์ เพื่อตรวจดูว่า ลูกสะบ้าอยู่ในตำแหน่งที่ ถูกต้องแล้ว เมื่อสุนัขได้รับการผ่าตัดลูกสะบ้าเคลื่อนไปแล้ว ต่อไปก็จะไม่เคลื่อนอีก อาการลูกสะบ้าเคลื่อนของสุนัข ส่วนใหญ่จะเริ่ม มีอาการกับสุนัขอายุรุ่น Puppy คือ อายุประมาณ 7 - 8 เดือน ถ้าได้รับการผ่าตัดลูกสะบ้าเคลื่อนในวัยนี้ สุนัขก็จะ หายเร็ว และร่างกายแข็งแรงเร็ว เนื่องจาก เป็นสุนัขที่มีอายุยังน้อยอยู่ วิธีปฏิบัติ - ควรนำสุนัขไปพบสัตว์แพทย์เพื่อ X-RAY ดูขาข้างที่เดินกะเผลก หรือเดินยกขา หรือเดิน 3 ขาอยู่ - ทดลองใช้มือของเจ้าของจับขาข้างที่มีปัญหานะคะ ค่อยๆ คลำตั้งแต่โคนขา จนถึงนิ้วทั้งสี่เท้า เพื่อหาตำแหน่งที่มี การอักเสบหรือบวมเป็นก้อนแข็ง ถ้าเจ้าของสุนัขจับขาสุนัขแล้ว สุนัขร้องด้วยความเจ็บปวด แสดงว่า ขาหักหรือมีความ ผิดปกติในตำแหน่งนั้น และยังไม่ได้รับการรักษา ถ้าหากเจ้าของสุนัขทิ้งระยะเวลาในการรักษาเป็นเวลานาน เป็นวัน หรือ เป็นเดือน จะทำให้ขาผิดรูปร่าง จนไม่สามารถเดินได้ดีเหมือนเดิม - นำสุนัขไปพบสัตว์แพทย์ตามที่แพทย์นัดตรวจดูอาการ - กินยาตามที่สัตว์แพทย์สั่งจนครบตามที่กำหนด - ถ้าไม่แน่ใจ ควรเปลี่ยนสัตว์แพทย์ที่มีอุปกรณ์ในการตรวจรักษา เช่น มีเครื่อง X-RAY พี่อ๋อยจึงหวังว่า ข้อปฏิบัติ และข้อแนะนำดังกล่าวข้างต้น คงจะทำให้สุนัขมีสุขภาพแข็งแรงและหายป่วยในเร็ววันนะคะ ถ้าหากเจ้าของสุนัขได้ดูแล ให้ความเอาใจใส่ และได้รับการรักษาจากสัตว์แพทย์ที่ถูกต้องนะคะ |